๑. ทาน ทานแปลว่า การให้ นักปฏิบัติต้องมีจิตใจจดจ่อเพื่อการให้ด้วยจิตใจที่หวังการ สงเคราะห์อยู่เป็นปกติ คิดไว้เสมอด้วยจิตที่ภาคภูมิว่า ถ้าการให้ด้วยการสงเคราะห์มีแก่เราเมื่อใด เมื่อนั้นความสบายสุขสันต์จะมีแก่เราอย่างหาสุขอื่นเปรียบมิได้ ในขณะใดท่านมีคนต้องการความ สงเคราะห์ แต่เรางดเว้นการให้เสีย จะถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะคิดว่าเราพ่ายแพ้ต่อความ ตระหนี่ อันเป็นกิเลสตัวสำคัญที่เข้ามาเหนี่ยวรั้งใจ การให้นี้ต้องไม่พิจารณาบุคคลถึงสุขภาพและฐานะ ถือเอาเพียงว่าเขาต้องการความช่วยเหลือเราก็ช่วยตามต้องการ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความทุกข์ ความขัดข้องของเขา และไม่หวังการตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
๒. ศีล ศีล แปลว่า ปกติ การรักษาอาการตามความพอใจของปกติชน ที่มีความปรารถนาอยู่เป็นสุข ไม่อยากให้ใครฆ่า หรือทำร้ายร่างกาย ไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่งทรัพย์สิน ไม่ต้องการให้ใครมาละเมิดความรัก ไม่ต้องการฟังคำพูดที่ไร้ความจริง และไม่ต้องการความคลั่งไคล้ด้วยการย้อมใจด้วยสุราเมรัย ที่ทำให้สติสัมปชัญญะฟั่นเฟือน เมื่อปกติของใจคนและสัตว์เป็นอย่างนี้ เราก็ไม่ทำลายปกติของความปรารถนาความพอใจของชาวโลก โดยไม่ละเมิดในสิ่งที่ปกติของจิตใจต้องการ ฉะนั้นศีลท่านจึงแปลว่า ปกติ คือรักษาอารมณ์ปกติของจิตใจของคนและสัตว์ ไม่ต้องการให้ได้รับความเดือดร้อน การรักษาศีลก็ต้องรักษาให้เข้าถึงใจ ไม่ใช่รักษาแต่เปลือกศีล การรักษาศีลต้องรักษาอย่างนี้ ไม่ละเมิดบทบัญญัติของศีล คือทำให้ศีลขาด ศีลด่าง ศีลพร้อย และศีลทะลุด้วยตนเอง ไม่แนะนำให้คนอื่นทำ และไม่ยินดีต่อเมื่อผู้อื่นทำแล้ว ต้องรักษาระดับนี้จึงจะเป็นศีลเพื่อมรรคผล
๓. สัจจะ สัจจะ แปลว่า ความตั้งใจจริง เราจะไม่ยอมเลิกละความตั้งใจเดิม แม้แต่จะต้อง ตายก็ตาม
๔. วิริยะ วิริยะ แปลว่า ความเพียร ความเพียรนี้ต้องมีประจำใจจริงๆ วิริยบารมีเป็นเครื่อง ควบคุมใจในเวลาที่จิตใจเกิดความท้อถอย ต้องตัดสินใจบากบั่นไม่พรั่นพรึงต่ออุปสรรคใด ๆ แม้จะต้องสิ้นลมปราณก็ตามที ในเมื่อเรานี้เป็นนักเสียสละ แม้แต่ชีวิตจะสูญสิ้นไป เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปก็ตามที ถ้ามรรคผลนิพพานที่เราปรารถนานี้ยังไม่ปรากฏเพียงใด เราจะไม่ละความพยายามประพฤติปฏิบัติไปโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรค
๔. วิริยะ วิริยะ แปลว่า ความเพียร ความเพียรนี้ต้องมีประจำใจจริงๆ วิริยบารมีเป็นเครื่อง ควบคุมใจในเวลาที่จิตใจเกิดความท้อถอย ต้องตัดสินใจบากบั่นไม่พรั่นพรึงต่ออุปสรรคใด ๆ แม้จะต้องสิ้นลมปราณก็ตามที ในเมื่อเรานี้เป็นนักเสียสละ แม้แต่ชีวิตจะสูญสิ้นไป เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปก็ตามที ถ้ามรรคผลนิพพานที่เราปรารถนานี้ยังไม่ปรากฏเพียงใด เราจะไม่ละความพยายามประพฤติปฏิบัติไปโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรค
๕. เนกขัมมะ เนกขัมมะ แปลว่าการถือบวช หมายถึงการอดในกามารมณ์ อย่างที่ท่าน ทรงพรหมจรรย์ โดยตัดใจไม่ใยดีในอารมณ์ยั่วเย้าด้วยอำนาจกามฉันทะ คือความพอใจในกามารมณ์ คือไม่นิยมรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสเลิศ สัมผัสที่นิ่มนวลและการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี ด้วยเห็นว่าเป็นภัยใหญ่ของการปฏิบัติเพื่อมรรคผล โดยพิจารณาให้เห็นความเป็นทุกข์ของการที่มี ความประสงค์อย่างนั้น ตัวอย่างของคนคู่มีความทุกข์ มีเป็นตัวอย่างดื่น ควรพิจารณาค้นคว้าให้เห็นด้วยตนเอง ถ้าทำตลอดกาลไม่ได้ก็ให้ปฏิบัติตัดกามารมณ์เป็นครั้งเป็นคราว จิตจะค่อยๆ ชินไปจนตัดใจได้เป็นปกติ
๖. ปัญญา ปัญญาแปลว่า ความรู้ ที่เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณา แปลว่า ความเฉลียว ฉลาดก็ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นทุกข์ จนเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายต่อการเกิดในชาติภพต่อไป จนกระทั่งได้สังขารุเปกขาญาณ คือไม่มีความหวั่นไหวในเมื่อความทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้นแก่สังขาร
๗. ขันติ ขันติแปลว่าความอดทนหรืออดกลั้น ต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยวนให้เกิดความรัก ความโกรธ ความหลง มีความอดกลั้น อดทนเป็นพิเศษ ไม่ยอมให้อารมณ์ฝ่ายชั่วเข้ามาล้างอารมณ์ วิปัสสนาญาณได้
๘. เมตตา เมตตา แปลว่าความรักที่ปราศจากความใคร่ด้วยอำนาจกิเลส หมายถึง รักด้วยความปราณี ไม่มีอารมณ์ในส่วนของกิเลสเจือปน ทำจิตของตนให้มีความรักอย่างกว้างขวาง แม้แต่คนที่เคยประกาศตนเป็นศัตรูมาในกาลก่อน ถ้าเห็นหน้าเข้าเราก็มีจิตใจแช่มชื่นไม่ลำบาก ไม่มี การอาฆาตจองล้างจองผลาญ แต่กลับมีความเมตตาปราณีสงสารหวังสงเคราะห์ให้มีความสุขตาม สมควรแก่อัตภาพ
๙. อธิษฐาน อธิษฐานแปลว่า ความตั้งใจมั่น คือเมื่อตั้งใจไว้แล้วเพียงใด จะไม่ยอมแก้ไข เปลี่ยนแปลงไปจากความตั้งใจเดิมเป็นอันขาด ทั้งนี้หมายถึงตั้งใจไว้ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าตั้งใจไว้เดิม ผิดพลาด เมื่อพิจารณาทราบแล้ว แก้ไขให้ถูกต้องได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ตรงตามแนวปฏิบัติเพื่อมรรคผลไม่เสียอธิษฐาน ถ้าผิดแล้วขืนดันทุรังไม่ยอมแก้ไข กลายเป็นมานกิเลส เสียหายใหญ่
๑๐. อุเบกขา อุเบกขาแปลว่า ความวางเฉย หมายถึงเฉยต่ออารมณ์ที่เป็นทุกข์และเป็นสุข อันเป็นวิสัยของโลกีย์ คือ ไม่ยอมยินดียินร้ายต่ออารมณ์ของโลกวิสัย ทำจิตใจให้ว่างต่ออารมณ์ที่เป็นสุขและทุกข์อันเป็นโลกีย์วิสัยเสีย
บารมีทั้ง ๑๐ อย่างนี้ นักวิปัสสนาญาณต้องมีครบถ้วน แล้วต้องปฏิบัติได้เป็นปกติไม่ใช่ ท่องจำได้ การปฏิบัติได้ก็ต้องเป็นไปตามความพอใจเป็นปกติ ไม่ใช่ฝืนใจ ถ้าบังคับใจ ฝืนใจอยู่ ก็เห็นจะยังนานหน่อยที่จะเข้าถึงมรรคผล ถ้าท่านเห็นว่า การประพฤติตามในบารมี ๑๐ นี้ เป็นปกติธรรมดาไม่มีอะไรหนักใจแล้ว ท่านก็เป็นคนที่ใกล้ต่อมรรคผลผู้หนึ่งเช่นเดียวกับท่านที่ได้บรรลุมรรคผลมาแล้วนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น