วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

- ตำนานประวัติวัดดอยพญากวางคำ


ตำนานประวัติดอยพญากวางคำ
ครั้งพุทธกาลแต่เดิมมา ณ ขุนห้วยโป่งแดงปัจจุบันเวลาบ่ายคล้อยมีกวางฝูงหนึ่งประมาณสิบกว่าตัวออกหากินตามประสาสัตว์โลกโดยการนำของจ่าฝูง
ในขณะเดียวกันนั้นก็มีพรานล่าเนื้ออยู่สองกลุ่มออกล่าสัตว์ กลุ่มหนึ่งมาทางทิศเหนือ อีกกลุ่มหนึ่งมาทางทิศใต้ ได้มาเจอกวางคำกับฝูงกวางกำลังออกหากินอยู่พอดี ด้วยความเป็นจ่าฝูงโดยสัญชาตญาณแห่งโพธิสัตว์ที่จะให้บริวารพ้นภัยอันตรายจากกลุ่มพรานอันมีสติปัญญาว่องไวและความเสียสละ จึงตัดสินใจหลอกล่อนายพรานทั้งสองกลุ่มให้สนใจติดตามตัวเองแต่ผู้เดียวโดยมุ่งหน้าวิ่งหลอกล่อพรานขึ้นไปบนเขาที่อยู่ใกล้ที่สุด คือ พระธาตุดอยกวางคำปัจจุบันเพื่อให้พ้นและห่างจากบริวารที่หากินอยู่ โดยไม่ห่วงตัวเองไม่หวั่นเกรงกลัวต่อความตาย ในขณะนั้นบนจอมเขาขุนห้วยโป่งแดงที่พญากวางคำกำลังวิ่งขึ้นไปนั้น มีพระมหาเถระรูปหนึ่งออกเดินธุดงค์โปรดสัตว์โลกมาพักปักกลดจำศีลภาวนาอยู่บนจอมเขา ขณะนั้นกำลังทำวัตรสวดมนต์พระอภิธรรมอยู่พญากวางได้วิ่งหนีพรานมาเจอะพระมหาเถระสวดมนต์พระอภิธรรมอยู่จึงได้หยุดยืนฟังและพิจารณาว่าเสียงนี้เหมือนเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนไพเราะมาก จิตจึงเกิดความเพลิดเพลินหลงใหลติดในเสียงสวดมนต์ของพระมหาเถระ ลืมว่ากำลังวิ่งหนีกลุ่มพรานอยู่ ไม่สนใจ ไม่กลัวความตายว่าจะมาถึงตัว พรานล่าเนื้อทั้งสองกลุ่มได้วิ่งไล่พญากวางขึ้นมาบนจอมเขา เพราะเห็นรูปร่างลักษณะใหญ่โตสวยงาม พอมาเจอพญากวางหยุดอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหว ก็ใช้อาวุธคือธนูยิงใส่พญากวางทันที โดยไม่ลังเลและไม่ทันสังเกตว่ามีพระธุดงค์ปักกลดอยู่ใกล้ ๆ (หลวงปู่เมตตาบอกว่า ด้วยบารมีบุญเก่าเดิมมาและอานิสงส์ที่จิตติดในเสียงสวดมนต์เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า)
ในขณะนั้นพญากวางคำไม่รู้สึกตัวว่าถูกยิงเสียชีวิต แต่รู้ตัวว่าเหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมาก็ได้อุบัติจุติเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงสา(ดาวดึงส์) มีประสาทวิมานกว้างได้สิบสองโยชน์ สูงสิบสองโยชน์และมีเทพธิดานางฟ้าเป็นบริวารอีกเป็นพันองค์ ส่วนพรานทั้งสองกลุ่มก็ได้แบ่งเนื้อกวางโดยไม่สนใจพระธุดงค์ที่ปักกลดสวดมนต์อยู่ ส่วนหนังของกวางนั้นพรานได้เอาตากไว้บนก้อนหินใกล้ ๆ กับเขาลูกนี้ (ปัจจุบันกลายเป็นแท่งหินหนังกวางอยู่ห่างจากวัดไม่ไกลนัก หลวงปู่เมตตาพาชาวบ้านไปดูและยืนยันด้วยองค์ท่านเอง) ส่วนหัวกวางพรานได้นำไปคั่ว ปัจจุบันคือบ้านหัวขัว แต่หลวงปู่บอกว่า บ้านหัวขัวไม่ถูกต้องเป็น หัวคั่วเพราะพรานเอาหัวกวางมาคั่วที่นี่ ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเรียกเพี้ยนเป็นภาษาล้านนาว่า หัวขัว” (หัวสะพาน) เป็นจริงอย่างที่หลวงปู่บอกเพราะชาวบ้านได้ไปขุดลอกลำเมืองข้างวัดม่วงคำในสมัยที่องค์ท่านได้บูรณะวัดม่วงคำ ปัจจุบันได้ไปเจอกระดูกกะโหลกกวางฝังอยู่จึงนำไปให้หลวงปู่ดู ท่านบอกว่าใช่เป็นกระดูกส่วนหัวพญากวางคำ (น่าเสียดายมิได้มีใครสนใจเก็บรักษาไว้จึงได้สูญหายไปในที่สุด) พระมหาเถระนั้นเมื่อสวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติกรรมฐานแล้วจึงได้มาเทศน์โปรดสั่งสอนบอกกล่าวให้กลุ่มพรานที่กำลังแบ่งเนื้อพญากวางคำและได้ชี้บอกพรานทั้งหลายว่า สูทั้งหลายทำบาปมากแล้ว สูรู้ไหมว่ากวางที่สูยิงนั้นไม่ใช่กวางธรรมดาทั่วไป แต่เป็นกวางคำโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีได้พาบริวารออกหากินต่อไปภายภาคหน้าจักได้เป็นพระพุทธเจ้าอีกตนหนึ่งแล้วเทศน์โปรดพรานเลิกฆ่าสัตว์ ตัดชีวิตหันมาทำบุญรักษาศีล โดยการนำศีลห้าไปปฏิบัติ พรานทั้งหมดเมื่อได้ฟังพระมหาเถระเทศน์จบก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสพระรัตนตรัยจึงขอรับศีลห้าไปปฏิบัติ แล้วพร้อมใจกันนำอาวุธทั้งหลาย ถวายพระมหาเถระเพื่อบูชาพระธรรมคำสอนของพระมหาเถระและบูชาศีลห้า (หลวงปู่จึงบอกว่าดอยลูกนี้ คือ ดอยศีลห้า) เมื่อกลุ่มพรานมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วจึงนึกถึงคุณของพระมหาเถระ หัวหน้ากลุ่มพรานจึงได้ขอให้พระมหาเถระทำสัญลักษณ์ไว้เป็นอนุสรณ์ตัวแทนของพระมหาเถระ เพื่อเขาจะได้สักการบูชาต่อไปในวันข้างหน้า พระมหาเถระจึงได้อธิษฐานจิตเหยียบรอยเท้าไว้บนหินให้พรานรักษาและได้มากราบไหว้สักการบูชา พระมหาเถระได้เล็งเห็นว่าในอนาคต ณ สถานที่แห่งนี้คงจะดำรงอายุสืบทอดพระพุทธศาสนาในอนาคตข้างหน้า พระมหาเถระจึงได้ขอเอาเขาพญากวางพระโพธิสัตว์จากพรานไว้ หลังจากพรานกลับกันไปหมดแล้วพระมหาเถระจึงได้นำเขาพญากวางคำที่ได้ขอมาจากพรานอธิษฐานจิตฝังเขาพญากวางคำไว้ตรงจุดสูงสุดของจอมเขาและทำสัญลักษณ์ไว้โดยการนำเอาหินสามก้อนมาวางไว้เป็นรูปสามเหลี่ยม(ปัจจุบันหลวงปู่ได้สร้างพระธาตุครอบตรงหินสามก้อนที่ฝังเขาพญากวางคำ) พรานทั้งสองได้แยกย้ายกันกลับ อีกพวกหนึ่งไปทางทิศใต้อีกพวกหนึ่งไปทางทิศเหนือ พอไปได้สักระยะหนึ่ง ทั้งสองพวก จึงมาคิดทบทวนคำบอกของพระมหาเถระว่ากวางตัวนี้ไม่ใช่กวางธรรมดา แต่เป็นพญากวางคำโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี วันข้างหน้าจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในอนาคตกาลข้างหน้า เมื่อคิดได้จึงปรึกษาพร้อมใจกันไม่กินเนื้อพญากวางคำ นำเอาเนื้อพญากวางคำมากองรวมกันไว้ทั้งหมดแล้วแยกย้ายกันกลับ ปัจจุบันเนื้อพญากวางคำได้กลายเป็นหินหมดและหลวงปู่ได้ให้ไปเก็บเอามารักษาไว้บนวัดเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นเป็นอนุสติเตือนใจ
ในสมัยที่องค์หลวงปู่มาเจอรอยพระบาทแล้วให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงมาช่วยสร้างให้เป็นวัดขึ้นจึงได้บอกให้ชาวบ้านไปดูจุดที่พรานนำเนื้อพญากวางคำกองไว้ไม่ห่างจากวัดพระธาตุดอยพญากวางคำไปเท่าใดนัก
ความเป็นมาที่องค์หลวงปู่ได้มาก่อสร้างบูรณะวัดพระธาตุดอยพญากวางคำ ปัจจุบันได้เป็นสถานที่ชาวบ้านใช้ทำบุญพิธีกรรมในพระพุทธศาสนาสร้างบารมีเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาขององค์สหลี๋สัพพัญญะพระพุทธเจ้าให้ถึงพ้นพระวษานั้นมีเหตุอยู่ตามที่องค์หลวงปู่ ได้เมตตาเล่าให้ผู้บันทึกฟังว่าเมื่อประมาณหกสิบปีที่ผ่านมาในสมัยที่ท่านได้ติดตามพระครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบูรณะซ่อมแซมวัดพระธาตุหัวขัวห่างจากวัดไปตามทิศตะวันตกประมาณห้ากิโลเมตร เป็นวัดอายุเก่าแก่พอสมควรในเขตอำเภอทุ่งหัวช้าง มีอยู่วันหนึ่งชาวบ้านหัวขัวได้เล่าให้ท่านฟังว่า ได้ไปหาเห็ดบนดอยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดพระธาตุหัวขัวประมาณห้ากิโลเมตร ได้ไปเจอรอยเท้าอยู่บนหินดอยลูกนั้น และได้เล่าบอกต่อ ๆ กันไปให้พระเณรที่ติดตามมาช่วยพระครูบาศรีวิชัยบูรณะพระธาตุหัวขัวฟัง ตั้งแต่นั้นมาพระภิกษุที่มาช่วยงานครูบาศรีวิชัยได้ไปเที่ยวดูก็เจอจริง  ๆ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน แล้วพระภิกษุหมู่นั้นก็เอามาล้อองค์หลวงปู่ว่าบ่อจั้ยเป๋นรอยพระบาทพระพุทธเจ้าเป๋นรอยติ๋น ของตุ๊วงศ์”(ไม่ใช่รอยเท้าพระพุทธเจ้าแต่เป็นรอยเท้าของครูบาวงศ์เอง) ที่องค์หลวงปู่ถูกล้อเลียนนั้นเพราะหลวงปู่ชอบเก็บตัวอยู่องค์เดียว ไม่สุงสิงกับหมู่พวกตั้งแต่นั้นมา ถ้าวันไหนว่างจากงานซ่อมแวมบูรณะวัดพระธาตุหัวขัว องค์หลวงปู่มักจะขึ้นไปกราบรอยพระบาท
บางครั้งขึ้นไปกราบที่เดิมไม่มีรอยพระบาทหาอย่างไรก็ไม่เจอ วันหลังขึ้นไปใหม่ไปที่เดิมปรากฏมีรอยพระบาทอยู่ที่เดิมเป็นอยู่หลายครั้ง เหตุการณ์อย่างนี้องค์หลวงปู่เมตตาบอกกับผู้บันทึกว่าเป็นเหตุอย่างนั้นเพราะเทวดาที่รักษารอยพระบาทเอาซ่อนคือบังตาไม่ให้เห็น องค์หลวงปู่จึงเกิดแรงบันดาลใจให้ท่านอยากจะสร้างที่ครอบรอยพระบาทขึ้นมา หลังจากนั้นมาองค์หลวงปู่จึงขึ้นไปกราบสักการะอีกครั้งในตอนนี้ท่านได้เก็บเอาก้อนหินบริเวณรอบรอยพระบาทมาก่อทำเป็นรั้วให้ดูเรียบร้อยสะอาดงามตาแก่ผู้มากราบไหว้ทีหลังและเพื่อป้องกันเวลาขึ้นมากราบวันหลังรอยจะมิได้ถูกเทวดาซ่อนอีก ในตอนนี้ท่านจึงได้ตั้งอธิษฐานว่า ถ้ารอยเท้านี้เกี่ยวข้องข้องผูกพันกับท่านเป็นรอยพระบาทจริงไม่ได้สร้างหรือมนุษย์ทำขึ้นและเป็นบุญของท่านที่จะได้บูรณะก่อสร้างที่ครอบรอยพระบาทก็ขอให้ได้สร้างที่ครอบรอยพระบาทแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียงเจ็ดวันเท่านั้น พออธิษฐานจิตเสร็จท่านบอกว่าได้ยินเสียงดอยครางสั่นสะเทือน คือ เทวดาที่รักษารอยพระบาทรับรู้เป็นพยานและอนุโมทนาสาธุการในเจตนาจะบูรณะ การอธิษฐานจิตขององค์ท่านที่เป็นจริงตามคำอธิษฐานของท่าน ท่านได้ทำการก่อสร้างที่ครอบรอยพระบาทแล้วเสร็จภายในเจ็ดวันพอดี ในระหว่างที่ทำการก่อสร้างนั้นหลวงปู่สร้างเองทั้งหมด ไม่มีใครช่วยท่านเลยและท่านไม่ได้จำวัตรที่รอยพระบาทนี้ ยังคงจำวัตรที่วัดพระธาตุหัวขัว ฉันเช้าเสร็จแล้วก็เดินเท้าขึ้นมาทำงาน พอตกเย็นตะวันตกดินท่านก็เดินทางกลับมาจำวัตรที่วัดพระธาตุหัวขัวตามเดิมเป็นอย่างนี้ทุกวัน (ภายใน 7 วัน) ท่านจึงตั้งชื่อรอยพระบาทว่า พระบาททันใจถ้าใครมีปัญหาอะไรก็ให้มาอธิษฐานขอที่รอยพระบาทนี้ ศักดิ์สิทธิ์เร็วทันใจ ท่านเมตตาบอกสั่งไว้ หลังจากที่สร้างครอบรอยพระบาทเสร็จแล้วช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณะวัด พระธาตุหัวขัวจนแล้วเสร็จ ท่านจึงได้นำพาชาวบ้านหัวขัวโป่งแดง-สัญชัย ตัดถนนขึ้นสู่ดอยตรงกับที่ได้สร้างบันไดนาคในปัจจุบัน และได้ขุดสร้างทางเป็นวงกลม ขึ้นสู่ดอยอีกสายหนึ่งจึงเรียกติดปากชาวบ้านแต่ก่อนว่าวัดดอยวงเรียกตามลักษณะของถนนที่เป็นวงกลมขึ้นดอยและได้สร้างพระธาตุขึ้นหนึ่งองค์ สร้างพระวิหารอีกหนึ่งหลังเสนาสนะกุฎิ พร้อมต่อประปาภูเขานำไปใช้ในวัดและในหมู่บ้านโป่งแดง-สัญชัย จนถึงปัจจุบันนี้
หลวงปู่ท่านผูกพันกับวัดพระธาตุดอยกวางคำนี้มากถึงกับออกปากว่าสถานที่นี้คือป่าช้าของกู ความหมายคือท่านได้เกิดเป็นกวาง คือ พญากวางคำ แล้วได้มาสิ้นชีวิต ณ สถานที่แห่งนี้ ประมาณปี 2533 หลวงปู่ได้สร้างพระวิหารขึ้น 1 หลัง มีหลวงพี่ปั๋น ปามจโจ ดูแลอยู่จนพระวิหารสร้างเสร็จแล้ว หลวงปู่ก็ได้ไปบูรณะวัดม่วงคำห่างจากวัดพระธาตุไปทางทิศเหนือประมาณ 2กิโลเมตร ท่านปั๋นได้ไปช่วยดูแลจนถึงปัจจุบันมาประมาณปี 2539 ผู้เขียนบรรพชาเป็นสามเณรได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ และเป็นลูกศิษย์องค์เดียวที่มีภูมิลำเนาบ้านเกิดอยู่ในบ้านทุ่งหัวช้าง อ.ทุ่งหัวช้าง โดยกำเนิดมีความสำนึกว่า หลวงปู่ท่านได้มาสร้างไว้ในเขตของบ้านเกิดตัวเอง และยังเป็นวัดของครูบาจารย์ด้วยคิดว่าสมควรที่จะมาช่วยองค์หลวงปู่ พ่อครูบาอาจารย์ ดูแลรักษาโดยมิได้มีเจตนอื่นเลย และได้ขึ้นมาเจอท่านพงศักดิ์ประจำอยู่ก่อนแล้ว ได้มาช่วยบูรณะจนถึงปัจจุบันแล้ว หลวงปู่ท่านยังได้ฝากคำพูดที่เป็นปริศนาไว้กับพระอุปสมบทรุ่นเดียวกันกับผู้เขียน ตอนองค์ท่านไปดูงานก่อสร้างพระเจดีย์ที่อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชีย รอยต่อลี้ เถินว่า ให้ผู้เขียนรีบไปดอยกวางคำเดี๋ยวเขาจะมายึดวัดแล้ว พระที่ท่านดูแลรักษาอนุสาวรีย์มาบอกตอนองค์หลวงปู่ท่านทิ้งสังขารแล้วเลยไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน และอีกหลายเรื่องที่ องค์ท่านมักจะเอ่ยขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีสาเหตุ พอมาเจอปัญหาทีหลังจึงได้รู้ว่าหลวงปู่ท่านได้ให้คำตอบไว้ตั้งนานแล้ว แต่ปัญหามาทีหลัง แสดงว่า องค์หลวงปู่ท่านรู้ล่วงหน้ามาแล้ว จากนี้ไปไม่มีสังขาร หลวงปู่ที่เราเหล่าลูกศิษย์จะได้กราบเรียนถามปัญหาอย่างเคยมา คงเหลือต่คำสอนที่องค์ท่านได้เมตาสั่งสอนและยังมีสมบัติอีกชิ้นหนึ่งที่องค์ท่านได้เมตตาสร้างไว้ให้เหล่าคณะที่มีต่อหลวงปู่ เปรียบเป็นสมบัติชิ้นสุดท้าย ที่พ่อทิ้งไว้ให้ลูกช่วยดูแลสืบต่อปฏิปทางานของพ่อเพื่อเป็นการสืบทอดต่ออายุพระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมบรมศาสดาสัมพุทธเจ้าให้ถึง 5000 ปี ในอนาคตกาลข้างหน้าแล

พระสมุห์สง่า  สนฺจิตโต
22 เมษายน 2552








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น